ที่มา https://www.baanlaesuan.com/208875/ideas/garden-ideas/modern_pot
กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งสำหรับ กระถางโมเดิร์น ที่หยิบนำเอารูปทรงเรขาคณิตมาเล่นเป็นดีไซน์ที่หลากหลายทั้งพื้นผิววัสดุและสีสัน ทำให้ปัจจุบันกระถางรูปทรงนี้สามารถนำวางตกแต่งภายในบ้านได้เกือบทุกสไตล์ ไม่ว่าจะเป็นโมเดิร์น คอนเทมโพรารี พื้นถิ่น หรือแม้กระทั่งบ้านและสวนที่มีกลิ่นอายของตะวันออกกลาง แต่ก่อนจะไปเลือกซื้อควรเสริมความรู้กันสักนิดเพื่อให้ได้กระถางที่ถูกใจ
บ้านและสวน
ขนาดไหนถึงจะใช่
แม้จะไม่มีกฎตายตัว แต่โดยพื้นฐานแล้วกระถางควรมีขนาดที่เหมาะสมกับต้นไม้ที่ปลูก สูตรคำนวณอย่างง่ายคือ ความกว้างของกระถาง ควรอยู่ที่ประมาณ 2 : 3 ของความสูงของต้น เช่น ถ้าต้นไม้สูง 15 นิ้ว ความกว้างของกระถางคือ 10 นิ้ว ส่วนความกว้างของต้นไม้จะมีสัดส่วนของทรงพุ่มวัดระยะจากกิ่งที่กว้างที่สุดกับกระถาง อยู่ที่ประมาณ 3 : 2 เช่น หากทรงพุ่มหว้าง 18 นิ้ว กระถางก็ควรมีความกว้าง 12-20 นิ้ว
แน่นอนว่าสูตรนี้ไม่ได้ใช้ได้กับต้นไม้ทุกชนิด เช่น ไม้เลื้อย ไม้คลุมดิน ไม้หัว หรือไม้น้ำบางชนิด ขึ้นอยู่กับรสนิยมและความชอบ ทางที่ดีควรนำต้นไม้ที่เราจะปลูกติดตัวไปร้านด้วย เพื่อให้ได้กระถางที่มีขนาดและรูปทรงที่เหมาะสมกับต้นไม้และโดนใจของเรามากที่สุด
กระถางมีรูและไม่มีรู
สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรพลาดสำหรับการเลือกซื้อกระถางคือ กระถางใบนั้นมีรูที่ก้นกระถางหรือไม่ โดยทั่วไปกระถางต้นไม้จะออกแบบมาให้มีรูที่ก้นสำหรับระบายน้ำไม่ให้เกิดน้ำขังหรือความชื้นในดินมากจนเกินไป ซึ่งสำหรับต้นไม้ทั่วไปหากนำไปปลูกในกระถางที่ไม่มีรูระบายจะเกิดปัญหาเรื่องเชื้อรา รากเน่า และตายลงในไม่ช้า
แต่ทำไมกระถางบางใบถึงไม่มีรูระบาย ประการแรก เนื่องจากจุดประสงค์ของกระถางดังกล่าวออกแบบมาให้ปลูกต้นไม้บางชนิด อย่างไม้น้ำ เช่น กกลังกา คล้าน้ำ หรือบัวอเมซอน ซึ่งต้องการมีน้ำหล่อเลี้ยงที่โคนต้นอยู่เสมอ อีกประการหนึ่งคือกระถางใบนั้นออกแบบมาสำหรับสวมทับกระถางต้นไม้ที่ซื้อมาแต่แรกอย่างกระถางพลาสติกที่มีขนาดเบาแต่ไม่ได้มีรูปทรงสวยงาม เพื่อง่ายต่อการปรับเปลี่ยนต้นไม้ในบริเวณดังกล่าว ซึ่งเหมาะมากสำหรับการปลูกต้นไม้ในบ้านที่ต้องสลับชุดต้นไม้ปลูกเพื่อหมุนเวียนไปรับแสงและอากาศด้านนอก อีกทั้งยังเป็นการลดภาชนะพวกจานรองลง ไม่จำเป็นต้องมีจานรองกระถางภายนอกอีกชั้นจนทำให้มู้ดของกระถางสวยลดลง แต่อย่างไรก็ตามควรมีอิฐรองก้นกระถางด้านในอีกชั้นเพื่อป้องกันกรณีที่รดน้ำมากเกินไปจนน้ำท่วมที่ก้นกระถางด้านในและอาจเกิดปัญหารากเน่าได้เช่นกัน
ควรย้ายกระถางเลย หรือแค่นำกระถางใหม่มาสวมทับ
หากต้นไม้ที่เราเลือกปลูกมีขนาดไ่ม่ใหญ่จนเกินไป ไม่น่าจะเป็นปัญหาหากว่าในอนาคตต้องมีการเคลื่อนย้ายกระถางปลูก หรือมีตำแหน่งการวางที่แน่นอนว่าจะไม่เคลื่อนย้ายกระถางนี้อีกแล้ว เมื่อเราได้กระถางที่เหมาะสมกับขนาดต้นไม้แล้วก็สามารถย้ายกระถางสู่กระถางใบใหม่ที่เราต้องการได้เลย เพราะต้นไม้ก็จะสามารถเจริญเติบโตได้เต็มฟอร์มตามภาชนะปลูก
แต่หากเป็นต้นไม้ที่ปลูกอยู่ภายในอาคารหรือยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถอยู่ในบริเวณที่เตรียมไว้ได้หรือไม่ ในระยะแรกขอแนะนำให้อย่าเพิ่งย้ายกระถางเก่าสู่กระถางใหม่ ควรสังเกตอาการของต้นไม้ที่เพิ่งซื้อมาตั้งในบริเวณนั้นสักเดือนหนึ่งก่อนว่าปกติดีหรือไม่ ถ้าเป็นต้นไม้ภายในอาคารควรเลือกกระถางใบใหม่สำหรับโชว์ด้านนอกที่ขนาดใหญ่กว่าหรือเหมาะสมกับกระถางด้านใน ส่วนกระถางด้านในควรเป็นกระถางพลาสติกหรือกระถางที่มีขนาดเบา เพื่อง่ายต่อการเคลื่อนย้ายหรือเปลี่ยนชุดต้นไม้กันได้ตลอด
อย่าลืมจานรองหรือขาตั้ง
กลายเป็นของคู่กันที่ขาดไม่ได้กับกระถางที่มีรูที่ก้นกระถาง โดยเฉพาะกระถางที่จัดวางบริเวณพื้นแข็งทั้งภายในและภายนอกอาคาร เพราะเมื่อเรารดน้ำต้นไม้จนชุ่ม น้ำก็จะไหลซึมผ่านรูที่ก้นกระถางออกมาจนเฉอะแฉะและดูสกปรก ซึ่งจานรองกระถางช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ โดยมากร้านขายกระถางทั่วไปจะมีจานรองกระถางเฉพาะที่ออกแบบมาเพื่อรองก้นกระถางชนิดนั้น ควรตัดสินใจซื้อมาด้วยเลย หรือบางร้านจะขายกระถางพร้อมจานรองมาด้วยกันเลย ก็จะทำให้กระถางและจานรองดูสวยงามไม่ขัดกัน ส่วนขาตั้งออกแบบมาเพื่อให้กระถางปลูกนั้นดูโดดเด่นและได้ระดับที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตามควรมีจานรองก้นกระถางก่อนวางบนขาตั้งอีกชั้นเช่นกัน
ประเภทของกระถางโมเดิร์น
กระถางคอนกรีตหรือหินขัด
ถือว่าเป็นกระถางพื้นฐานที่สามารถหาซื้อได้ไม่ยาก มีราคาไม่สูงนักและมีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ แต่ข้อเสียคือมีน้ำหนักมาก เคลื่อนย้ายลำบากและสามารถแตกเสียหายได้ง่าย เมื่อผ่านระยะเวลาหรือความชื้นจะเกิดคราบ สีด่าง หรือร่องรอยแตกตามธรรมชาติได้ อาจตอบโจทย์กับผู้ที่ต้องการความเป็นธรรมชาติของผิววัสดุจริง
กระถางไฟเบอร์เทอร์ราซโซ
ภายในทำจากเรซิน เกล็ดหินธรรมชาติ ผสมเส้นใยไฟเบอร์ ทำให้มีน้ำหนักเบา พื้นผิวภายนอกเป็นหินขัดเรียบ กึ่งเงา สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่ายและทนทาน
กระถางไฟเบอร์เคลย์
ทำจากเส้นใยไฟเบอร์ผสมกับดินเหนียว ทำให้ได้ผิวสัมผัสที่คล้ายกับกระถางดินเผาแต่มีน้ำหนักเบาและแข็งแรงมากกว่า สามารถขึ้นรูปและทำสีได้หลากหลายรูปแบบ รวมถึงสร้างลวดลายและผิวสัมผัสที่หลากหลายได้ตามต้องการ แต่ผิวจะดูด้านและไม่เงา
กระถางไฟเบอร์กลาส
ทำจากเรซินผสมกับเส้นใยไฟเบอร์ ทำให้ได้กระถางที่แข็งแรงและน้ำหนักเบา โดดเด่นด้วยผิวสัมผัสด้านนอกที่สามารถทำสีให้ดูมันเป็นเงาวาวได้ง่าย
กระถางไฟเบอร์ซีเมนต์เทอร์ราซโซ
ทำจากซีเมนต์ ผสมไฟเบอร์และหินธรรมชาติ เป็นกระถางที่ทำออกมาเพื่อตอบโจทย์ผู้ที่ยังคงต้องการกระถางที่ให้ผิวสัมผัสแบบหินขัดเรียบอยู่ แต่มีน้ำหนักเบาและทนทานมากยิ่งขึ้น